กำเนิด INDYTHAITESTER.COM
www.indythaitester.com มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบซอฟต์แวร์แบบอัตโนมัติ โดยเน้นไปที่การใช้เครื่องมือทดสอบอัตโนมัติที่ได้รับความนิยมในการใช้งานในปัจจุบัน เช่น Selenium หรือ Unified Functional Testing (QTP เดิม) ทั้งนี้เพื่อสร้างเสริมและพัฒนาความสามารถให้แก่นักทดสอบซอฟต์แวร์หรือผู้ที่ต้องการเข้าสู่อาชีพนักทดสอบซอฟต์แวร์ให้พร้อมสำหรับการแข่งขันที่เกิดขึ้นด้วย นอกจากนั้นทีมงานยังให้บริการในการฝึกอบรมการทดสอบอัตโนมัติให้กับหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่สนใจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเว็บไซด์ทีมงานจึงได้พัฒนา Data Generator ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการสร้างข้อมูลทดสอบภาษาไทยแบบอัตโนมัติเพื่อใช้กับเครื่องมือทดสอบอัตโนมัติทั้ง Selenium และ UFT โดยปกติแล้วกระบวนการทดสอบซอฟต์แวร์แบบอัตโนมัติจะประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลักสองส่วน นั่นคือทักษะในการใช้เครื่องมือทดสอบอัตโนมัติ และทักษะในการออกแบบข้อมูลทดสอบ ทักษะประการแรกสามารถตอบสนองได้โดยการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือดังกล่าวได้ ส่วนทักษะประการที่สองเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและประสบการณ์ค่อนข้างมากในการออกแบบข้อมูลได้ครอบคลุมการทดสอบได้ในทุก ๆ มิติ นั่นคือจำนวนข้อมูล การออกแบบข้อมูลยิ่งมากตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น การออกแบบข้อมูลเพื่อทดสอบสำหรับหน้าจอลงทะเบียนหนึ่ง ๆ ที่ประกอบไปด้วยฟิลด์ต่าง ๆ สำหรับการกรอกข้อมูลที่ประกอบไปด้วยรายละเอียดส่วนตัวและที่อยู่ของผู้ใช้ อาจจำเป็นต้องใช้ข้อมูลไม่ต่ำกว่า 500 ระเบียนสำหรับการทดสอบเพื่อให้ครอบคลุมในทุก ๆ มิติ โดยเริ่มต้นจากการกำหนดชนิดของข้อมูลที่ต้องการพร้อมทั้งกำหนดขอบเขตและรายละเอียดตามทฤษฎีที่ต้องการ จากนั้นจึงพิมพ์ลงในไฟล์ประเภทสเปรตชีต เพื่อเรียกใช้จากเครื่องมือทดสอบอัตโนมัติ ซึ่งจากจำนวนข้อมูลดังกล่าวนักทดสอบจำเป็นต้องใช้เวลามากในการจัดเตรียมข้อมูลดังกล่าวเพื่อพร้อมใช้ร่วมกับเครื่องมือทดสอบอัตโนมัติ
แม้ว่าในต่างประเทศจะได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์สร้างข้อมูลอินพุตอัตโนมัติบ้างแล้วก็ตาม แต่เครื่องมือเหล่านั้นยังถูกจำกัดให้ใช้ได้เฉพาะการสร้างข้อมูลทดสอบในรูปแบบของฐานข้อมูลเป็นหลัก นอกจากนั้นยังขาดคุณสมบัติที่จำเป็นต่อการออกแบบข้อมูลทดสอบที่ถูกต้องอาทิ ข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นมีลักษณะเป็นข้อมูลสำเร็จรูปที่ใช้ได้เฉพาะกับกล่องข้อความเท่านั้น รวมทั้งไม่สามารถใช้ในการทดสอบร่วมกับส่วนประกอบอื่นๆ เช่น List Box CheckBox หรือ RadioButton ได้ นอกจากนั้นผู้ใช้ยังไม่สามารถกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมที่จำเป็นเช่น อักขระพิเศษ เช่น ชื่อและนามสกุลต้องมีช่องว่างอย่างน้อย 1 ช่อง หรือความยาวของชื่อตัวอักษรในกล่องข้อความต้องมากกว่า 1 และไม่น้อยกว่า 50 ตัวอักษร เป็นต้น แต่สิ่งที่เป็นข้อจำกัดที่สุดของซอฟต์แวร์ดังกล่าวคือสนับสนุนการทำงานเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้ร่วมกับการทดสอบโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นที่ถูกสร้างขึ้นเป็นภาษาไทยได้ ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวทีมงานจึงได้มีแนวคิดในการพัฒนาซอฟต์แวร์ต้นแบบเพื่อสร้างข้อมูลอินพุตอัตโนมัติเพื่อใช้งานร่วมกับเครื่องมือทดสอบอัตโนมัติ โดยได้รับความสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) องค์กรมหาชน